Popular Posts

Tuesday, April 9, 2013

โรคตับแข็งมีวิธีการรักษาอาการอย่างไร


โรคตับแข็งมีวิธีการรักษาอาการอย่างไร
 
โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis) เป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่ง โอกาสเกิดในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูง อายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป เป็นโรคของผู้ใหญ่
 
โรคตับแข็งจัดเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งค่อนข้างรุนแรง โดยในยุโรปพบอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับแข็งที่ 10 ปี นับจากมีอาการ สูงประมาณ 34-66% และในสหรัฐอเมริกา เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นลำดับที่ 12 ในผู้หญิง และลำดับที่ 10 ในผู้ชาย
ตับเป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่ง มีหน้าที่หลายๆอย่าง ซึ่งเมื่อเกิดเป็นโรคตับแข็ง การทำงานของตับจะลดลง จึงก่อให้เกิดอาการต่างๆขึ้น
หน้าที่ของตับที่สำคัญ คือ ช่วยการสร้างโปรตีน กำจัดของเสียออกจากร่าง กาย สร้างน้ำย่อยอาหารเพื่อการดูดซึมไขมัน (น้ำดี) ช่วยสร้างสารภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรค ช่วยสร้างสารเพื่อการแข็งตัวของเลือด และเป็นแหล่งสะสมน้ำตาลให้ร่างกายเพื่อนำมาใช้เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ

โรคตับแข็งเกิดได้อย่างไร?

โรคตับแข็ง เกิดจากการที่เนื้อเยื่อตับบาดเจ็บและถูกทำลายจากการ อักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เนื้อเยื่อตับจึงกลายเป็นพังผืด ทำให้ตับสูญเสียการทำงาน โดยเมื่อเริ่มเกิดโรค ตับจะมีขนาดปกติได้ แต่ต่อมา เมื่อการอักเสบมากขึ้นจึงเกิดการบวมของเนื้อเยื่อตับ ตับจะโตคลำได้ (ปกติจะคลำตับไม่ได้ เพราะอยู่ใต้ชายโครง) แต่เมื่อการอักเสบเรื้อรัง เนื้อเยื่อตับเป็นพังผืดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื้อเยื่อตับจึงแข็งขึ้น (เป็นที่มาของคำว่า โรคตับแข็ง) และขนาดของตับจะหดเล็กลงเรื่อยๆ นอกจากนั้น เนื้อเยื่อตับที่เหลืออยู่ จะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จึงเกิดเป็นปุ่มก้อนเนื้อขึ้น เมื่อร่วมกับการเกิดพังผืด จึงก่อให้ตับแข็งมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำทั่วทั้งตับ

โรคตับแข็งมีสาเหตุจากอะไร ?

สาเหตุ หรือ ปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดโรคตับแข็ง มีได้มากมาย แต่ที่พบบ่อย คือ
  • จากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย 60-70% ของตับแข็งเกิดจากสาเหตุนี้
  • จาก โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (เป็นสาเหตุประมาณ 10%)
  • จากภาวะร่างกายมีเกลือแร่ (ธาตุ) เหล็กสูง เหล็กจึงไปสะสมในตับ ส่งผลให้เกิดตับแข็ง เช่น ใน โรคธาลัสซีเมีย(เป็นสาเหตุประมาณ 5-10%)
  • จากโรคต่างๆของท่อน้ำดี (เป็นสาเหตุประมาณ 10%) เช่น ท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรังจาก โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง) หรือ ท่อน้ำน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด
  • จากโรค หรือ ภาวะอื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง หรือ ยารักษาวัณโรค หรือ วิตามินเอเสริมอาหารปริมาณสูง) จาก โรคภูมิแพ้ตนเอง จากโรคไขมันพอกตับ (มักพบในคนอ้วน) จากตับติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อพยาธิใบไม้เลือด (Schistosomiasis พยาธิใบไม้ชนิดอาศัยอยู่ในหลอดเลือด) และจากโรคหัวใจล้มเหลว (ทั้งหมดเป็นสาเหตุรวมกันแล้วประมาณ 5%)

โรคตับแข็งมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้บ่อยในโรคตับแข็ง คือ ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค ต่อเมื่อเป็นมากแล้วจึงมีอาการ ซึ่งที่พบบ่อย คือ
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร ผอมลง คลื่นไส้
  • อาจมีเส้นเลือดฝอยเกิดมากผิดปกติตามตัว และในฝ่ามือ
  • อาจมีตัว/ตาเหลือง (ดีซ่าน) จากการคั่งของสารสีเหลือง (บิลิรูบิน/Bilirubin) ซึ่งสร้างจากตับ (ปกติตับขับออกทางปัสสาวะ และน้ำดี) และอาการคันตามตัว เพราะสารสีเหลืองจากตับก่อการระคายต่อผิวหนัง หายใจมีกลิ่นจากสารของเสียที่สะสมในร่างกายเพราะตับกำจัดออกไม่ได้
  • ห้อเลือดง่าย เลือดออกแล้วหยุดยาก จากขาดสารช่วยการแข็งตัวของเลือดซึ่งสร้างจากตับ
  • ติดเชื้อต่างๆง่าย เพราะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลงจากตับทำงานได้ลดลง
  • บวมหน้า มือ เท้า ท้อง เพราะโปรตีนในเลือดลดลงจากตับทำงานลดลง และความดันเลือดดำในตับสูงขึ้นจากการเกิดพังผืดของตับ จึงเกิดน้ำคั่งในท้อง
  • หลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆในท้องขยายตัว จากความดันเลือดดำในตับสูงขึ้น จึงแตกได้ง่าย ที่สำคัญ คือ หลอดเลือดดำของหลอดอาหาร ส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด
  • ม้ามโต จากมีเลือดคั่งเพราะความดันเลือดในตับสูงขึ้น นอกจากนั้นม้ามจะทำลายเม็ดเลือดแดงได้สูงขึ้น จึงเกิด ภาวะซีด
  • โรคไตวาย จากมีความดันเลือดในตับสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง
  • ระยะสุดท้าย เมื่อตับเสียการทำงานมากขึ้น สารของเสียเพิ่มมากขึ้น จึงส่ง ผลถึงสมอง เกิดภาวะมือสั่น และเกิดตับวายในที่สุด ส่งผลให้ สับสน และโคม่า

แพทย์วินิจฉัยโรคตับแข็งได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคตับแข็ง ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติดื่มสุรา หรือประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น การใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ ตรวจชิ้นเนื้อจากตับ โดย การตรวจทางพยาธิวิทยา และการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคตับแข็งได้อย่างไร?

เมื่อเกิดโรคตับแข็งแล้ว ไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ การรักษาจึงเพื่อ หยุด หรือ ชะลอการทำลายของเนื้อเยื่อตับ ซึ่งได้แก่
  • การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคหัวใจเมื่อมีโรคหัวใจเป็นสาเหตุ
  • การเลิก หรือ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น เลิกดื่มสุรา และไม่ซื้อยากินเอง
  • นอกจากนั้น คือ รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาขับน้ำเมื่อมีอาการบวม และการรักษาผลข้างเคียงต่างๆจากโรคตับแข็ง
  • เมื่อตับทำงานได้ต่ำมาก การรักษา คือ การปลูกถ่ายตับ ซึ่งมีข้อจำกัดมาก จากการขาดแคลนผู้บริจาคตับ ปลูกถ่ายได้ผลเฉพาะในบางคนที่แข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวเท่านั้น และจากค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ยังสูงมาก

มีผลข้างเคียงจากโรคตับแข็งไหม?

ผลข้างเคียงจากโรคตับแข็ง คือ คุณภาพชีวิตลดลงจากโรคและอาการต่างๆที่พบบ่อย คือ ภาวะซีด ติดเชื้อได้ง่าย แน่นอึดอัดท้อง จากม้ามโตและ/หรือมีน้ำในท้อง อาเจียนเป็นเลือด และไตวาย

โรคตับแข็งรุนแรงไหม?

โรคตับแข็ง เป็นโรคเรื้อรังรุนแรง เพราะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต จากภาวะตับวาย และจากผลข้างเคียง เช่น ติดเชื้อรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด และไตวาย

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ดังกล่าวแล้วว่า เมื่อเริ่มเป็นตับแข็ง จะไม่มีอาการ ดังนั้นแพทย์สามารถตรวจพบโรคได้เมื่อเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี หรือ ควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เมื่อมีปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าว นอกจากนั้น คือ รีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติดัง กล่าว

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตับแข็ง ที่สำคัญ คือ
  • ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ให้ครบทุกวัน
  • หลีกเลี่ยง และเลิกปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน โรคไวรัสตับอักเสบ ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • พบแพทย์ตรงตามนัด และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือ เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคตับแข็งได้อย่างไร?

การป้องกันโรคตับแข็ง คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญ คือ ไม่ดื่ม/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ และไม่ซื้อยากินเอง อย่างน้อยควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Cirrhosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Cirrhosis [2011, June 1].
  3. Heidelbaugh, J., and Bruderly, M. (2006). Cirrhosis and chronic liver failure: part I. Diagnosis and evaluation. Am Fam physician, 74, 756-762.
  4. Heidelbaugh, J., and Sherbondy, M. (2006). Cirrhosis and chronic liver failure: part II. Complications and treatment. Am Fam Physician, 74, 767-776.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.
วว. รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลีย
ภาพ อินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment