Popular Posts

Wednesday, April 10, 2013

โรคลมชักเกิดจากอะไร


โรคลมชักเกิดจากอะไร
 
โรคลมชักคืออะไร
 
โรคลมชัก เป็นกลุ่มอาการอันเนื่องจากการที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด ทำงานมากเกินปกติไปจากเดิมชั่วขณะ  อาการแสดงจะเป็นอะไรนั้น  ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ทำงานมากเกินปกติ
 
 
ผู้ป่วยโรคลมชักอาจมีอาการแตกต่างกันหลายชนิด  บางชนิดก็เกิดในระยะเวลาอันสั้น  โดยผู้ป่วยจะมีอาการแค่เหม่อลอย  ไม่รู้ตัว,  อาจมีอาการเคี้ยวปากหรือขยับมือไปมา,  ประสาทหลอน,  และบางชนิดอาจมีอาการรุนแรง  โดยผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งกระตุกทั่วทั้งตัว  ไม่รู้ตัว และมีอุจจาระ – ปัสสาวะราด  ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ลมบ้าหมู” นั่นเอง
 
โรคลมชักเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย  โดยมีอัตราการเกิดประมาณ 1 % ของประชากรทั้งหมด  โรคลมชักไม่ใช่โรคติดต่อ  และโดยส่วนใหญ่จะไม่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

สาเหตุของโรคลมชัก

โรคลมชักเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ  ประมาณ 70 %  จะหาสาเหตุไม่พบ  และอีก 30 % อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. แผลเป็นในสมอง  เช่น  จากการติดเชื้อของสมอง  อุบัติเหตุต่อสมอง  ชักขณะไข้สูงในวัยเด็ก
2. โรคทางกาย  เช่น  ภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูงหรือต่ำ  น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ  โรคตับ  โรคไต
3. การดื่มเหล้า  กินยาบางชนิด  หรือได้รับสารพิษ
4. ภาวะมีก้อนในสมอง  เช่น  เนื้องอกในสมอง  พยาธิในสมอง  หรือหลอดเลือดสมองตัน หรือแตก
5. โรคทางกรรมพันธุ์
การวินิจฉัยโรคลมชัก
แพทย์จะให้การวินิจฉัยโรคลมชัก  โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับจากคนไข้  และผู้เห็นเหตุการณ์ชัก  รวมถึงประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ฯลฯ  ตลอดจนการตรวจร่างกายโดยละเอียด  และนอกจากนั้น  แพทย์อาจจะพิจารณาส่งตรวจคลื่นสมอง (EEG)  และการฉายภาพของเนื้อสมอง (CT, MRI)  ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรืออันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด  ตามความจำเป็น เป็นราย ๆ ไป
การรักษา
การรักษาหลักของผู้ป่วยโรคลมชัก  คือ  การให้ยากันชัก  ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 10 ชนิด  แต่ละชนิดก็ใช้ได้ดีกับการชักต่างชนิดกันออกไป  โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาที่เหมาะสมตามชนิดของการชักนั้น ๆ ของผู้ป่วย  และติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด  ถ้าไม่มีอาการชักติดต่อกันประมาณ 2-3 ปี  แพทย์อาจจะพิจารณาหยุดยากันชักได้  ซึ่งต้องพิจารณาในผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป  ในผู้ป่วยบางรายอาจจะจำเป็นต้องทานยากันชักตลอดไป
ยากันชักอาจจะมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้  ควรปรึกษาแพทย์
การปฐมพยาบาล
เนื่องจากการชักส่วนใหญ่ จะหยุดเองได้ภายในเวลา 1-2 นาที  ดังนั้นผู้ที่อยู่รอบข้าง  มีหน้าที่เพียงคอยดูแลผู้ป่วยที่กำลังชักให้ปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้  โดย
1. อย่าตื่นเต้นตกใจ  พยายามพยุงผู้ป่วยให้นอนราบกับพื้น และคลายเสื้อผ้าให้หลวม
2. เก็บสิ่งของมีคม หรือสิ่งที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วยให้พ้นบริเวณ
3. พลิกศีรษะผู้ป่วยให้ตะแคงข้าง  เพื่อให้น้ำลายไหลออกทางมุมปาก และไม่ให้ลิ้นปิดกั้นทางเดินหายใจ
4. ลอดหมอนไว้ใต้ศีรษะผู้ป่วย
5. ห้ามสอดใส่สิ่งใด ๆ เข้าไปในปากของผู้ป่วยในขณะชัก
เมื่อใดควรพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล
1. ผู้ป่วยชักนานเกินกว่า 5 นาที
2. ผู้ป่วยชักติดต่อกันหลายครั้ง  โดยไม่รู้สึกตัวเลย
ขอบคุณบทความจาก http://www.followhissteps.com/web_health/epilepsy.html

No comments:

Post a Comment